11 ม.ค. 2555

ความรู้เรื่องของการบริจาคโลหิต

เนื่องจากในวันที่ 22 มกราคม 55 นี้จะมีการบริจาคโลหิต
ที่ร.ร. วัดนางนอง ก็เลยหาข้อมูลทั่วเกี่ยวกับการปฏิบัติตัว
ในการบริจาคโลหิต มาให้อ่านกันก่อน
คุณสมบัติผู้บริจาคโลหิต
1. มีน้ำหนัก 45 กิโลกรัมขึ้นไป
2. อายุระหว่าง 17 ปี ถึง 60 ปีบริบูรณ์ (ถ้าเป็นผู้บริจาค
   ครั้งแรกต้องอายุไม่เกิน 55 ปี)
3. มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว
  ไม่อยู่ระหว่างไม่สบายหรือรับประทานยาใดๆ
4. ไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศหรือติดยาเสพติด
5. สตรีไม่อยู่ในระหว่างมีประจำเดือน ตั้งครรภ์หรือ
  ให้นมบุตร และไม่มีการคลอดบุตรหรือแท้งบุตรภายใน
   6 เดือนที่ผ่านมา

การเตรียมตัวก่อนบริจาคโลหิต
1. นอนหลับให้เพียงพออย่างน้อย 6 ชั่วโมงต่อเนื่อง
  ในเวลาปกติคืนก่อนวันบริจาค
2. รับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง และยาธาตุเหล็กเพิ่ม
3. รับประทานอาหารมื้อหลักก่อนมาบริจาคโลหิต หลีกเลี่ยง
  อาหารที่มีไขมันสูง เนื่องจากจะทำให้สีของพลาสมาผิดปกติ
  เป็นสีขาวขุ่น ไม่สามารถนำไปใช้ได้
4. ดื่มน้ำ 3-4 แก้ว และเครื่องดื่มเหลวเพิ่ม เช่น น้ำผลไม้ นม
  น้ำหวาน เพื่อเพิ่มปริมาณโลหิตในร่างกาย จะช่วยป้องกันอาการ
  แทรกซ้อน เช่น มึนงง อ่อนเพลีย หรือวิงเวียนศีรษะภายหลัง
  บริจาคโลหิต หลีกเลี่ยงชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
5. งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ อย่างน้อย 24 ชั่วโมงก่อนบริจาค
6. งดสูบบุหรี่ ก่อนและหลังบริจาคโลหิต 1 ชั่วโมง เพื่อให้ปอดฟอกโลหิตได้ดี

ขณะบริจาคโลหิต
1. สวมใส่เสื้อผ้าที่แขนเสื้อไม่คับเกินไป สามารถดึงขึ้นเหนือ
  ข้อศอกได้อย่างน้อย 3 นิ้ว
2. เลือกแขนข้างที่เส้นโลหิตดำใหญ่ชัดเจน ที่สามารถให้โลหิต
  ไหลลงถุงได้ดี ผิวหนังบริเวณที่จะให้เจาะ ไม่มีผื่นคัน หรือรอยเขียวช้ำ
   ถ้าแพ้ยาทาฆ่าเชื้อ เช่น แอลกอฮอล์ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ทราบล่วงหน้า
3. ทำตัวตามสบาย อย่ากลัว หรือวิตกกังวล
4. ไม่ควรเคี้ยวหมากฝรั่ง หรืออมลูกอมขณะบริจาคโลหิต
5. ขณะบริจาคควรบีบลูกยางอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้โลหิตไหลได้สะดวก
   หากมีอาการผิดปกติ เช่น ใจสั่น วิงเวียน มีอาการคล้ายจะเป็นลม
   อาการชา อาการเจ็บที่ผิดปกติ ต้องรีบแจ้งให้พยาบาลหรือเจ้าหน้าที่
  ในบริเวณนั้นทราบทันที

หลังบริจาคโลหิต
1. หลังบริจาคโลหิตจำเป็นต้องดื่มเครื่องดื่มที่เจ้าหน้าที่จัดไว้
  บริการให้และนั่งพักสักระยะหนึ่ง เพื่อให้ร่างกายได้ปรับสภาพ
  น้ำในร่างกาย เมื่อปกติดีแล้วจึงเดินทางกลับ
2. ดื่มน้ำมากกว่าปกติ เป็นเวลา 1-2 วัน
3. หลีกเลี่ยงการทำซาวน่า หรือออกกำลังกายที่ต้องเสียเหงื่อมากๆ
4. งดใช้กำลังแขนข้างที่เจาะ รวมถึงการหิ้วของหนักๆ เป็นเวลา
   24 ชั่วโมง ภายหลังการบริจาคโลหิต
5. ถ้ามีอาการเวียนศีรษะคล้ายจะเป็นลม หรือรู้สึกผิดปกติ ให้รีบ
  นั่งก้มศีรษะต่ำระหว่างเข่าหรือนอนราบยกเท้าสูงจนกระทั่งมี
  อาการปกติจึงลุกขึ้น และเดินทางกลับ ป้องกันอุบัติเหตุจากการล้ม
6. ถ้ามีโลหิตซึมออกมาจากรอยผ้าปิดแผล อย่าตกใจ ให้ใช้นิ้วมือ
  อีกด้านหนึ่งกดลงบนผ้าก๊อส กดให้แน่นและยกแขนสูงไว้ประมาณ
  3-5 นาที หากยังไม่หยุดซึมให้กลับมายังสถานที่บริจาคโลหิต
  เพื่อพบแพทย์หรือพยาบาล
7. ผู้บริจาคโลหิตที่ทำงานปีนป่ายที่สูง หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล
   ควรหยุดพัก 1 วัน
8. รับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง

ประโยชน์ของการบริจาคโลหิต
1. ได้รับความภาคภูมิใจ ในการบริจาค
2. ได้รับทราบหมู่โลหิตของตนเองในระบบ ABO และ ระบบ RH
3. เสมือนได้รับการตรวจสุขภาพร่างกาย เนื่องจาก โลหิตที่ได้รับบริจาค
   ต้องผ่านกระบวนการในห้องปฏิบัติการ หากเป็นโรคร้ายแรง
   ทางสภากาชาดจะส่งเอกสารข้อมูลไปยังที่อยู่ที่ลงทะเบียนไว้
4. ช่วยชีวิตผู้อื่นที่ต้องการเลือด เป็นการใช้ชีวิตต่อชีวิต

ที่มา
http://www.redcross.or.th/donation/blood_wholeblood.php
http://th.wikipedia.org
http://medinfo.psu.ac.th/departments/pathology/Education/BloodBank/question.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น