14 ก.ค. 2554

วันเข้าพรรษา

สัปดาห์ที่ผ่านมาพวกเราก็ได้ช่วยกัน ถวายเทียนพรรษาเนื่องในวันเข้าพรรษากันแล้ววันครูจะนำเรื่องของวันเข้าพรรษาที่ได้รวบรวมและเอามาสรุปให้อ่านกัน
    วันเข้าพรรษา ถือเป็นวันสำคัญที่พระสงฆ์จะอธิษฐานว่าจะพักประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง ในช่วง 3 เดือนที่เป็นฤดูฝน ตามที่พระธรรมวินัย โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น หรือที่เรียกเราเรียกว่า จำพรรษา ("พรรษา" แปลว่า ฤดูฝน, "จำ" แปลว่า พักอยู่) เป็นพิธีสำคัญสำหรับพระสงฆ์โดยตรง ละเว้นไม่ได้ การเข้าพรรษาตามปกติเริ่มนับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี (หรือเดือน 8 หลัง ถ้ามีเดือน 8 สองหน) และสิ้นสุดลงในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หรือวันออกพรรษา

   สาเหตุที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตการจำพรรษาอยู่ ณ สถานที่ใดสถานที่หนึ่งตลอด 3 เดือนแก่พระสงฆ์นั้น มีเหตุผลเพื่อให้พระสงฆ์ได้หยุดพักการจาริกเพื่อเผยแพร่ศาสนาซึ่งจะเป็นไปด้วยความลำบาก เพื่อป้องกันความเสียหายจากการเดินเหยียบย่ำต้นพืชของชาวบ้านที่ปลูกไว้และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นช่วงเวลาที่พระสงฆ์จะได้มาอยู่จำพรรษารวมกัน เพื่อศึกษาพระธรรมวินัยจากพระสงฆ์ที่ทรงความรู้ ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และสร้างความสามัคคีในหมู่คณะสงฆ์ด้วยกัน

ประเภทของการเข้าพรรษาตามพระวินัยแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ
1.ปุริมพรรษา (เขียนอีกอย่างว่า บุริมพรรษา) คือ การเข้าพรรษาแรก เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 (สำหรับปีอธิกมาส คือ มีเดือน 8 สองหน จะเริ่มในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 หลัง) จนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หลังจากออกพรรษาแล้ว พระที่อยู่จำพรรษาครบ 3 เดือน ก็มีสิทธิที่จะรับกฐินซึ่งมีช่วงเวลาเพียงหนึ่งเดือน นับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12
2.ปัจฉิมพรรษา คือ การเข้าพรรษาหลัง ใช้ในกรณีที่พระภิกษุต้องเดินทางไกลหรือมีเหตุสุดวิสัย ทำให้กลับมาเข้าพรรษาแรกในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ไม่ทัน ต้องรอไปเข้าพรรษาหลัง คือวันแรม 1 ค่ำ เดือน 9 แล้วจะไปออกพรรษาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ซึ่งเป็นวันหมดเขตทอดกฐินพอดี ดังนั้นพระภิกษุที่เข้าปัจฉิมพรรษาจึงไม่มีโอกาสได้รับกฐิน แต่ก็ได้พรรษาเช่นเดียวกับพระที่เข้าปุริมพรรษาเหมือนกัน

ประเพณีที่เกี่ยวกับการเข้าพรรษาในประเทศไทย
1. ประเพณีถวายเทียนพรรษา 
     เทียนพรรษาในปัจจุบันใช้ประโยชน์เพียงจุดบูชาพระพุทธปฏิมา ไม่ได้ใช้ประโยชน์ในการศึกษาพระธรรมเหมือนในอดีต จึงทำให้ในปัจจุบันเริ่มมีชาวพุทธนำอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ให้แสงสว่างไปถวายแก่พระสงฆ์แทนเทียนพรรษา
2.ประเพณีถวายผ้าอาบน้ำฝน
    ประเพณีถวายผ้าอาบน้ำฝน (ก่อนเข้าพรรษา) ผ้าอาบน้ำฝน หรือ ผ้าวัสสิกสาฏก คือผ้าเปลี่ยนสำหรับสรงน้ำฝนของพระสงฆ์ เป็นผ้าลักษณะเดียวกับผ้าสบง โดยปรกติเครื่องใช้สอยของพระภิกษุตามพุทธานุญาตที่ให้มีประจำตัวนั้น มีเพียง อัฏฐบริขาร ซึ่งได้แก่ สบง จีวร สังฆาฏิ เข็ม บาตร รัดประคด หม้อกรองน้ำ และมีดโกน แต่ช่วงหน้าฝนของการจำพรรษาในสมัยก่อนนั้น พระสงฆ์ที่มีเพียงสบงผืนเดียวจะอาบน้ำฝนจำเป็นต้องเปลือยกาย ทำให้ดูไม่งาม นางวิสาขามหาอุบาสิกาจึงคิดถวาย "ผ้าวัสสิกสาฏก" หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า ผ้าอาบน้ำฝน เพื่อให้พระสงฆ์ได้ผลัดเปลี่ยนกับผ้าสบงปกติ จนเป็นประเพณีทำบุญสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน
3. ประเพณีถวายผ้าจำนำพรรษา (หลังออกพรรษา)
    ผ้าจำนำพรรษา หรือ ผ้าวัสสาวาสิกสาฎก เป็นผ้าไตรจีวรที่ถวายแก่พระสงฆ์ที่อยู่จำพรรษาครบ 3 เดือน ที่ผ่านวันปวารณาไปแล้ว หรือที่ผ่านวันปวารณาและได้กรานและอนุโมทนากฐินแล้ว ซึ่งผ้าจำนำพรรษานี้พระสงฆ์สามารถรับได้ภายในกำหนด 5 เดือน ที่เป็นเขตอานิสงส์กฐิน คือ ตั้งแต่แรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4  แต่สำหรับพระสงฆ์ที่จำพรรษาครบ 3 เดือน และผ่านวันปวารณาไปแล้ว ซึ่งไม่ได้กรานและอนุโมทนากฐิน ก็สามารถรับและใช้ผ้าจำนำพรรษาได้เช่นกัน แต่สามารถรับได้ในช่วงกำหนดเพียง 1 เดือน ในเขตจีวรกาลสำหรับผู้ไม่ได้กรานกฐินเท่านั้น

4. ประเพณีถวายผ้าอัจเจกจีวร (ระหว่างเข้าพรรษา)
    ผ้าอัจเจกจีวร แปลว่า จีวรรีบร้อน หรือผ้าด่วน คือผ้าจำนำพรรษาที่ถวายล่วงหน้าในช่วงเข้าพรรษา ก่อนกำหนดจีวรกาลปกติ ด้วยเหตุรีบร้อนของผู้ถวาย เช่น ผู้ถวายจะไปรบทัพหรือเจ็บไข้ไม่ไว้ใจว่าจะมีชีวิตรอดหรือไม่ชีวิต หรือเป็นบุคคลที่พึ่งเกิดศรัทธาในพระพุทธศาสนา ควรรับไว้ฉลองศรัทธา
    ผ้าอัจเจกจีวรนี้ เป็นผ้าที่มีความมุ่งหมายเดียวกับผ้าจำนำพรรษา เพียงแต่ถวายก่อนฤดูจีวรกาลด้วยวัตถุประสงค์รีบด่วนด้วยความไม่แน่ใจในชีวิต ซึ่งประเพณีนี้คงมีสืบมาแต่สมัยพุทธกาล ปัจจุบันไม่ปรากฏเป็นพิธีใหญ่ เพราะเป็นการถวายด้วยสาเหตุส่วนตัวเฉพาะรายไป ส่วนมากจะมีเจ้าภาพผู้ถวายเพียงคนเดียวและเป็นคนป่วยหนักที่มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า
* * * * *

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น