มาดูกันต่อในเรื่องเนื้อหาบทเรียนที่ครูสรุปให้อ่าน
ตอนนี้เป็นเกี่ยวกับเรื่องของศาสนาซิกซ์
ศาสนาซิกข์
1. ลักษณะสำคัญของศาสนาซิกข์คืออะไร
1.1 เป็นศาสนาที่รวมเอาจุดเด่นของศาสนาฮินดูและศาสนาอิสลาม
มาไว้เป็นอันเดียวกัน
1.2 ถือเอาคัมภีร์เป็นศาสดาแทน
1.3 ศาสนานี้ถือว่าพระเจ้ามีองค์เดียว ไม่เป็นพระเจ้าของศาสนาใด
โดยเฉพาะแต่เป็นสากล ทรงพระนามว่า "วาเฮคุรุ" พระองค์ไม่มี
ลักษณะเหมือนคนดังพระเจ้าของฮินดู ไม่มีรัก ไม่มีชัง ดังพระเจ้า
ของอิสลามหรือคริสต์ ทรงเป็นสัตยเทพ ทรงความเป็นเอก เป็นอนันตะ
ทรงสถิตอยู่ทั่วไป ทรงมีพระกรุณาในสรรพสัตว์เท่ากัน
2. ประวัติความเป็นมาของศาสนาซิกข์
ศาสนาซิกข์ หรือสิกข์ เกิดในประเทศอินเดีย เป็นศาสนาใหม่
เกิดเมื่อ พ.ศ. 2012 โดยคิดตามปีที่เกิดของคุรุนานักผู้เป็นปฐมศาสดานี้
คำว่าซิกข์ เป็นภาษาปัญจาบี ตรงกับภาษาบาลีว่า สิกขะ และตรงกับภาษา
สันสกฤตว่า ศิษยะ แปลว่าศิษย์หรือผู้ศึกษาเล่าเรียน เพราะฉะนั้นชาวซิกข์
ก็คือผู้เป็นศิษย์ของคุรุหรือศาสดาของศาสนาซิกข์ทุกองค์ ศาสนาซิกข์เกิด
ในช่วงที่ศาสนิกของศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูกับศาสนิกของศาสนาอิสลาม
เผชิญหน้ากัน มีปัญหากระทบกระทั่งจนฆ่ากันอยู่เสมอ ทำให้นานักผู้มีจิตใจ
สูง ทนไม่ไหวได้คิดหาทางที่จะนำความสงบสุขคืนมา จนเป็นเหตุให้เกิด
ศาสนาซิกข์ขึ้นมา เพราะฉะนั้นศาสนาซิกข์จึงเป็นศาสนาที่ประนีประนอม
ศาสนาต่างๆ ในอินเดีย โดยเฉพาะระหว่างศาสนาฮินดูกับศาสนาอิสลาม
ศาสนาซิกข์มีคำสอนที่ตั้งขึ้นใหม่แล้วยังนำคำสอนดีเด่นจากศาสนาต่างๆ
จากศาสนาฮินดูและศาสนาอิสลามมาเป็นคำสอนด้วย ส่วนไม่ดีก็ตัดทิ้งไป
เช่นเรื่องการถือชั้นวรรณะ ความมีกิเลสของพระเจ้าเป็นต้น โดยให้ใหม่ว่า
ทุกคนเป็นพี่น้องกันไม่แตกต่างกันเพราะมาจากพระเจ้าองค์เดียวกัน
ดังคำสอนที่ว่า พระเจ้ามีหลายพระนามเช่น พระพรหม พระศิวะ พระวิษณุ
และนิรเภา เป็นต้น พระองค์เป็นพระเจ้าของมนุษยชาติทั้งมวล มิได้ผูกขาด
ว่าเป็นพระเจ้าของฮินดู พระเจ้าของมุสลิม หรือของศาสนาใด ทรงประทับ
อยู่ทุกแห่ง แต่ทรงชอบประทับอยู่ในใจของคน
3. ศาสดาคนแรกของศาสนาซิกข์ คือ ใคร
ท่านนานัก
4. ประวัติของศาสดาคนแรก โดยสรุป
ผู้ให้กำเนิดศาสนาซิกข์ คือ คุรุนานัก นานักเกิด ณ หมู่บ้านตัลวันทิ
เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ปัจจุบันเรียกว่า "นังกานา สาหิพ" ทางทิศตะวันตก
เฉียงใต้เมืองละฮอร์ บนฝั่งแม่น้ำราวี ประเทศปากีสถาน เกิดเมื่อวันที่
15 เมษายน พ.ศ. 2012 ตระกูลเป็นฮินดู วรรณะพราหมณ์ บิดาชื่อกุล
หรือเมห์ตากัลยาดาส มารดาชื่อตริปตะ มีฐานะยากจน มารดาเป็น
ผู้เคร่งครัดในศาสนามาก ส่วนบิดาเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อยเงินเดือนต่ำ
คอยรับใช้ผู้ว่าราชการเมือง
เมื่อนานักเจริญวัยอายุได้ 7 ขวบ ก็ได้รับการศึกษาในสำนักของครู
ที่เป็นมุสลิม กล่าวว่านานักเป็นคนมีสติปัญญาและช่างคิดอ่านตั้งแต่
อยู่ในวัยเด็ก สามารถแสดงปัญญาความสามารถไต่ถามความรู้เรื่อง
พระเจ้าต่อครูอาจารย์ ได้ศึกษาศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู มีความรู้
แตกฉานในคัมภีร์พระเวท ต่อมาอีก 2 ปี ได้ศึกษาภาษาเปอร์เซีย
(อิหร่าน)เพื่อเรียนรู้ลัทธิคำสอนของโซโรอัสเตอร์ ผู้เป็นศาสดาของ
ศาสนาโซโรอัสเตอร์ ทำให้นานักสามารถแสดงวาทะโต้ตอบหลัก
ศาสนากับคณาจารย์ผู้ใหญ่ได้ตั้งแต่ยังเป็นเด็ก
นานักเป็นคนมีนิสัยใจคอกว้างขวาง โอบอ้อมอารี แม้ไม่ใช่เป็นคนรวย
ชอบแบ่งปันสิ่งของแก่ผู้อื่น จนเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง ใฝ่การ
ศึกษาเรื่องศาสนาอย่างมากไม่ชอบเป็นนักรบหรือค้าขาย เพราะมี
ความมุ่งมั่นที่จะใช้หลักศาสนาเข้าแก้ไขสังคมที่แตกแยก พยายาม
ที่จะค้นหาคำสอน เปรียบเทียบคำสอน และแก้ไขคำสอนให้ใช้ได้
เหมาะสมกับสถานการณ์ในขณะนั้น
เมื่ออายุ 14 ปี ได้สมรสกับหญิงผู้เป็นกุลสตรีชาวตัลวันทิชื่อ สุลัขนี
เมื่อแต่งงานแล้วประมาณ 10 ปี มีบุตร 2 คน คือ ศรีจันท และ
ลักษมิทาส ปรากฏว่าชีวิตสมรสช่วงหลังๆ หาความสุขได้ยาก เพราะ
นานักและภรรยามีนิสัยคนละแบบ นานักชอบความสงบ แต่ภรรยา
ชอบสนุกแบบโลกียวิสัย จนในที่สุดนานักจึงตัดสินใจหนีภรรยาและ
ลูกออกไปหาความสงบทางใจในป่า เมื่ออายุ 36 ปี
เมื่อนานักได้เข้าไปอยู่ในป่าเพื่อเข้าสมาธิหาความสงบทางจิตได้ไม่นาน
วันหนึ่งเมื่อได้อาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด จิตใจปลอดโปร่ง ได้นั่ง
สมาธิหาความสงบ ขณะที่นั่งสงบอยู่นั้นนานักได้ประสบการณ์ทางจิตว่า
ได้ดื่มน้ำทิพย์ถ้วยหนึ่งจากพระเจ้า ข้อความในคัมภีร์ครันถะได้กล่าวเอา
ไว้ว่า พระเจ้าได้ประทานน้ำทิพย์ถ้วยหนึ่งซึ่งนานักได้รับด้วยความสำนึก
ในพระคุณ แล้วพระเจ้าได้รับสั่งกับนานักว่า "เราจะอยู่กับเจ้า เราจะทำให้
เจ้ามีความสุขสงบและจะทำทุกคนที่นับถือเราในเจ้ามีความสุขไปด้วย
เจ้าจงออกจากที่แห่งนี้ไป จงไปข้างหน้า นึกถึงเรา สั่งสอนคนทั้งหลาย
เช่นเดียวกับที่เจ้ากระทำอยู่ จงทำโลกให้สะอาด ระลึกถึงการท่องบ่น
นามของเราไว้เป็นนิตย์ จงเป็นผู้มีเมตตา เป็นผู้สะอาดบูชาและกระทำใจ
ให้เป็นสมาธิ ต่อไปเจ้าจงเป็นคุรุ (ครู) ของคนทั้งหลาย" นานักได้รับ
ประสบการณ์ทางจิตดังกล่าว ก็เกิดความมั่นใจในตนเอง ทั้งโสมนัสเป็น
อย่างยิ่ง และได้ชื่นชมกับประสบการณ์นั้น โดยอยู่ในป่าต่ออีก 3 วัน
แล้วจึงได้เดินทางออกมา
5. หลักคำสอนสำคัญๆในศาสนาซิกข์ มีอะไรบ้าง
หลักคำสอนในศาสนาซิกข์ที่สำคัญ คือ
1) องค์ไตรรัตน์ 3 ประการ
2) ศีล 5 ประการ
3) หลักธรรมประจำชีวิตหรือศีล 21 ประการ
4) หลักปฏิบัติสำหรับผู้ที่จะเข้าถึงสุขนิรันดรหรือนิรวาณ
6. เป้าหมายสูงสุดของศาสนาซิกข์ คือ อะไร
ศาสนาซิกข์มีจุดหมายปลายทางสูงสุดของชีวิต เป็นความสุข
ที่แท้จริงและนิรันดร คือ ความกลมกลืนเข้ากับชีวิตของ
พระเจ้าหรือการได้รับพระมหากรุณาจากพระเจ้า
7. ศาสนาซิกข์มีวิธีการอย่างไรที่จะไปถึงเป้าหมาย
ต้องบูชาพระเจ้าสวดเพลงสรรเสริญพระนามและการฟังพระนาม
ของพระเจ้า ชาวซิกข์เชื่อว่าชีวิตในโลกนี้ยังต้องเกิดอีกหลาย
ครั้งตราบที่ยังไม่สิ้นกิเลส
8. ศาสนาซิกข์มีนิกายที่สำคัญอยู่ 2 นิกาย คือ อะไร
1) นิกายนานักปันถิหรือสหัชธรี
2) นิกายขาลสาหรือสิงห์
9. ศาสนาซิกข์มีคัมภีร์ที่สำคัญคือ อะไร
ครันถะ สาหิบ คำว่าครันถะ ตรงกับภาษาบาลี ว่า คันถะ แปลว่า
คัมภีร์ ส่วนคำว่า สาหิบ แปลว่า พระ ดังนั้นครันถะ สาหิบ แปลว่า
พระคัมภีร์นั่นเอง ฝรั่งเรียกคัมภีร์ครันถะ สาหิบ ว่า The Lord Book
ก็คัมภีร์ครันถะ สาหิบ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ
1) อาทิครันถ์สาหิบ แปลว่าพระคัมภีร์แรก คัมภีร์นี้คุรุอรชุน
ศาสดาองค์ที่ 5 ได้จัดทำขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2147 โดยรวบรวมคำสอน
ของคุรุองค์ก่อนๆ ตั้งแต่คุรุนานักจนถึงตัวท่านเอง รวมทั้ง
คำสอนของนักปราชญ์ในศาสนาฮินดูคือ รามนันทะ และ
นักปราชญ์ในศาสนาอิสลาม คือ กาบีร์ อยู่ด้วย
2. ทสมครันถะ สาหิบ แปลว่าพระคัมภีร์ที่ 10 คัมภีร์นี้คุรุโควินทสิงห์
ศาสดาองค์ที่ 10 เป็นผู้จัดทำขึ้นโดยการรวบรวมคำสอนของคุรุองค์ก่อนบางองค์และของตัวท่านเองไว้รวมกัน
10. หลักคำสอนที่สำคัญ
1) องค์ไตรรัตน์หรือองค์ 3 ประการ อันเป็นสิ่งสูงสุดในศาสนาซิกข์
คือ พระเจ้า, ศรี(หลักธรรม), อกาล (ความแน่นอนของพระเจ้า)
2) ศีล 5 ประการ (5ก) คือ
1. เกศ คือ เอาผม หนวด เคราไว้ จะโกนไม่ได้
2. กังฆา คือ จะต้องมีหวีเสียบหรือปักไว้ที่ผมเสมอ ขาดไม่ได้
3. กรา คือ จะต้องมีมีดพกประจำตัว (บางทีใช้กำไลเหล็กสวมข้อมือ)
4. กิรปาน คือ จะต้องมีดาบประจำตัว
5. กฉา คือ จะต้องมีกางเกงขาสั้นโดยนุ่งไว้ข้างในประจำ
3) ปฏิบัติเพิ่มเติมอีก 4 ประการ คือ
1. ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มน้ำเมา
2. ไม่บริโภคเนื้ออย่างอิสลาม
3. ไม่ตัดผม ไม่โกนหนวด
4. ไม่แต่งกายหรือไม่ร่วมประเพณีกับมุสลิม
11. นักบวชเกี่ยวกับนักบวชในศาสนาซิกข์
ศาสนาซิกข์เป็นศาสนาที่ไม่มีนักบวชหรือพระแม้ว่าจะมีวัดก็ตาม
ท่านคุรุอมรทาสได้ประกาศให้มีวัดซิกข์ทุกหมู่บ้านที่มีศาสนิกชน
ของซิกข์ และได้กำหนดเขตการเผยแผ่ศาสนาซิกข์ในอินเดียออก
เป็น 22 เขต แต่ละเขตมีซิกข์ผู้มีศรัทธาในศาสนาอย่างแท้จริง
หนึ่งคนเป็นผู้รับผิดชอบในเขตนั้นๆ
ผู้ทำหน้าที่สอนศาสนาซิกข์ไม่มีเครื่องแบบ แม้นักบุญผู้หลุดพ้น
ก็มิได้ถือกฎแห่งพรหมจรรย์ในวัดซิกข์ ใครก็สามารถทำหน้าที่
ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาได้ ผู้คงแก่เรียนในคัมภีร์ก็เป็น
ผู้อ่านคัมภีร์เท่านั้น ส่วนผู้ร้องเพลงสวดก็มิได้ถือว่าเป็นพระสงฆ์
ผู้ปฏิบัติกิจทางศาสนาเรียกว่าผู้ทำงานซึ่งทำด้วยความสมัครใจ
ผู้หญิงในศาสนาซิกข์จึงทำงานทางศาสนาได้เท่าเทียมผู้ชาย
และอาจมีส่วนร่วมในพิธีกรรมทางศาสนาได้ทุกอย่าง เช่น
พิธีปฏิญาณตนเป็นซิกข์ พิธีแต่งงาน พิธีศพ เป็นต้น สำหรับ
การอ่านคัมภีร์ทางศาสนาถือว่าเป็นหน้าที่ปกติของทุกคน
13. นิกายในศาสนาซิกข์ มี 2 นิกายคือ
1. นิกายนานักปันถิ หรือสหัชธรี นิกายนี้เน้นไปในทางนับถือ
คุรุนานัก จึงดำรงชีวิตอยู่อย่างเรียบง่าย ตามรอยคุรุนานัก
นิกายนี้โกนผมโกนหนวดเคราได้
2. นิกายขาลสา หรือ สิงห์ นิกายนี้นับถือหนักไปทางคุรุโควินทสิงห์
ผู้ที่นับถือนิกายนี้จะไว้ผมตลอดทั้งหนวดเครายาว โดยไม่ตัด
หรือโกนตลอดชีวิต
* * * * * *
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น