11 ก.ย. 2554

วิชาเกษตรอินทรีย์01

ในตอนนี้จะเป็นเรื่องใหม่ที่เกี่ยวกับการเกษตรใน
แนวที่มิตรกับธรรมชาติ คือ

เกษตรอินทรีย์
ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก : วิกิพีเดียสารานุกรมเสรี

แนวคิดพื้นฐานของเกษตรอินทรีย์ คือ การบริหารจัดการการผลิตทาง
การเกษตรแบบองค์รวม ซึ่งแตกต่างอย่างชัดเจนจากการเกษตรแผนใหม่
ที่มุ่งเน้นการเพิ่มผลผลิตชนิดใดชนิดหนึ่งสูงสุด แต่เป็นการเพาะปลูก
ไม่ได้สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ

สำหรับเกษตรอินทรีย์จะให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ทรัพยากร
ธรรมชาติและระบบนิเวศการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฟื้นฟู
ความอุดมสมบูรณ์ของดิน, การรักษาแหล่งน้ำให้สะอาด และ
การฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพของฟาร์ม ทั้งนี้เพราะ
แนวทางเกษตรอินทรีย์อาศัยกลไกและกระบวนการของระบบนิเวศ
ในการทำการผลิต ดังนั้นเกษตรอินทรีย์จะประสบความสำเร็จได้
เกษตรกรจำเป็นต้องเรียนรู้กลไกและกระบวนการของระบบนิเวศ

เกษตรอินทรีย์จึงปฏิเสธการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชและปุ๋ยเคมี
เนื่องจากสารเคมีการเกษตรเหล่านี้มีผลกระทบต่อกลไกและกระบวน
การของระบบนิเวศ ให้ความสำคัญกับการสร้างสมดุลของวงจร
ของธาตุอาหาร, การประหยัดพลังงาน, การอนุรักษ์ระบบนิเวศ
การเกษตร และการฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งถือได้ว่า
เกษตรอินทรีย์เป็นการบริหารจัดการฟาร์มเชิงบวก
(positive management) และการจัดการเชิงบวกนี้เองที่ทำให้
เกษตรอินทรีย์แตกต่างอย่างสำคัญจากการเกษตรที่ไม่ใช้สารเคมี
แบบปล่อยปะละเลยหรือเกษตรปลอดสารเคมีและเกษตรไร้สารพิษ
ที่เฟื่องฟูในบ้านเรามานานหลายปี

เกษตรกรที่หันมาทำเกษตรอินทรีย์จึงจำเป็นต้องพัฒนาการเรียนรู้
เกี่ยวกับธรรมชาติและการบริหารจัดการฟาร์มของตนเพิ่มขึ้นด้วย
ผลที่ตามมาก็ คือเกษตรอินทรีย์จึงเป็นแนวทางการเกษตรที่ตั้งอยู่
บนกระบวนการแห่งการเรียนรู้และภูมิปัญญา เพราะเกษตรกรต้อง
สังเกต, ศึกษา, วิเคราะห์-สังเคราะห์ และสรุปบทเรียนเกี่ยวกับ
การทำการเกษตรของฟาร์มตนเอง ซึ่งจะมีเงื่อนไขทั้งทางกายภาพ
(เช่น ลักษณะของดิน ภูมิอากาศ และภูมินิเวศ) รวมถึงเศรษฐกิจ-สังคม
ที่แตกต่างกันไปในแต่ละที่
เกษตรอินทรีย์มุ่งหวังที่จะสร้างความมั่นคงในการทำการเกษตร
สำหรับเกษตรกร ตลอดจนอนุรักษ์และฟื้นฟูวิถีชีวิตของชุมชน
เกษตรกรรมวิถีการผลิตของเกษตรอินทรีย์เป็นวิถีการผลิตที่
เกษตรกรต้องอ่อนน้อมและเรียนรู้ในการดัดแปลงการผลิต
ของตนให้เข้ากับวิถีธรรมชาติ อาศัยกลไกธรรมชาติเพื่อทำ
การเกษตร ดังนั้นวิถีการผลิตเกษตรอินทรีย์จึงเป็นวิถีแห่ง
การเคารพและพึ่งพิงธรรมชาติ ซึ่งสอดคล้องกลมกลืนกับ
วิถีชีวิตของชุมชนเกษตรพื้นบ้านของสังคมไทย

แต่ในขณะเดียวกัน เกษตรอินทรีย์ก็ไม่ได้ปฏิเสธการผลิตเพื่อ
การค้า เพราะตระหนักว่าครอบครัวเกษตรกรส่วนใหญ่จำเป็นต้อง
พึ่งพาการจำหน่ายผลผลิตเพื่อเป็นรายได้ในการดำรงชีพ
ขบวนการเกษตรอินทรีย์ได้พยายามพัฒนามาตรฐานการผลิตและ
ระบบการตรวจสอบรับรองที่สร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคได้ว่า
ทุกขั้นตอนของการผลิต แปรรูป และการจัดการนั้นเป็นการทำงาน
ที่พยายามอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ตลอดจนรักษาคุณภาพ
ของผลผลิตให้เป็นธรรมชาติเดิมมากที่สุด

หลักการเกษตรอินทรีย์
หลักการสำคัญ 4 ข้อของเกษตรอินทรีย์ คือ
1. ด้านสุขภาพ (health) ต้องส่งเสริมและสร้างความยั่งยืนให้
กับสุขภาพอย่างเป็นองค์รวมของดิน พืช สัตว์ มนุษย์ และโลก

สุขภาวะเป็นองค์รวมและเป็นปัจจัยที่สำคัญของสิ่งมีชีวิต การมี
สุขภาวะที่ดีไม่ใช่การปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ แต่รวมถึงภาวะ
แห่งความเป็นอยู่ที่ดีของกายภาพ จิตใจ สังคม และสภาพแวดล้อม
โดยรวม ความแข็งแรง ภูมิต้านทาน และความสามารถใน
การฟื้นตัวเองจากความเสื่อมถอยเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ
ของสุขภาวะที่ดี

2. มิติด้านนิเวศวิทยา (ecology) ต้องตั้งอยู่บนรากฐานของระบบ
นิเวศวิทยาและวัฐจักรแห่งธรรมชาติ การผลิตการเกษตรจะ
ต้องสอดคล้องกับวิถีแห่งธรรมชาติ และช่วยทำให้ระบบและ
วัฐจักรธรรมชาติเพิ่มพูนและยั่งยืนมากขึ้น

ฟาร์มเกษตรอินทรีย์ควรสร้างสมดุลของนิเวศการเกษตร โดย
การออกแบบระบบการทำฟาร์มที่เหมาะสม การฟื้นฟูระบบนิเวศ
ท้องถิ่น และการสร้างความหลากหลายทั้งทางพันธุกรรมและ
กิจกรรมทางการเกษตร ผู้คนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการผลิต
การแปรรูป การค้า และการบริโภคผลผลิตเกษตรอินทรีย์
ควรช่วยกันในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทั้งในแง่ของภูมินิเวศ
สภาพบรรยากาศ นิเวศท้องถิ่น ความหลากหลายทางชีวภาพ
อากาศ และน้ำ

3. มิติด้านความเป็นธรรม (fairness) ควรจะตั้งอยู่บนความสัมพันธ์
ที่มีความเป็นธรรมระหว่างสิ่งแวดล้อมโดยรวมและสิ่งมีชีวิต

ความเป็นธรรมนี้รวมถึงความเท่าเทียม การเคารพ ความยุติธรรม
และการมีส่วนในการปกปักพิทักษ์โลกที่เราอาศัยอยู่ ทั้งในระหว่าง
มนุษย์ด้วยกันเอง และระหว่างมนุษย์กับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ

ในหลักการด้านนี้ ความสัมพันธ์ของผู้คนที่เกี่ยวข้องกับกระบวน
การผลิตและการจัดการผลผลิตเกษตรอินทรีย์ในทุกระดับควรมี
ความสัมพันธ์กันอย่างเป็นธรรม ทั้งเกษตรกร คนงาน ผู้แปรรูป
ผู้จัดจำหน่าย ผู้ค้า และผู้บริโภค ทุกผู้คนควรได้รับโอกาสใน
การมีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีส่วนช่วยในการรักษาอธิปไตยทาง
อาหาร และช่วยแก้ไขปัญหาความยากจน เกษตรอินทรีย์ควรมี
เป้าหมายในการผลิตอาหารและผลผลิตการเกษตรอื่นๆ ที่เพียงพอ
และมีคุณภาพที่ดี

รวมถึงการปฏิบัติต่อสัตว์เลี้ยงอย่างเหมาะสม ทรัพยากรธรรมชาติ
และสิ่งแวดล้อมที่นำมาใช้ในการผลิตและการบริโภคควรจะต้อง
ดำเนินการอย่างเป็นธรรม ทั้งทางสังคมและทางนิเวศวิทยา
รวมทั้งต้องมีการอนุรักษ์ปกป้องให้กับคนรุ่นหลัง

4. มิติด้านการดูแลเอาใจใส่ (care) ต้องดำเนินการอย่างระมัดระวัง
และรับผิดชอบ เพื่อปกป้องสุขภาพและความเป็นอยู่ของผู้คน
ทั้งในปัจจุบันและอนาคต รวมทั้งพิทักษ์ปกป้องสภาพแวดล้อม
โดยรวมด้วย

การดำเนินการอย่างระมัดระวังและรับผิดชอบเป็นหัวใจสำคัญ
ของการบริหารจัดการ การพัฒนา และการคัดเลือกเทคโนโลยี
ที่จะนำมาใช้ในเกษตรอินทรีย์ ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เป็น
สิ่งจำเป็นเพื่อสร้างหลักประกันความมั่นใจว่า เกษตรอินทรีย์
นั้นปลอดภัยและเหมาะกับสิ่งแวดล้อม แต่อย่างไรก็ตาม
ความรู้ทางวิทยาศาสตร์แต่เพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ
ประสบการณ์จากการปฏิบัติ และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สะสม
ถ่ายทอดกันมาก็อาจมีบทบาทในการแก้ปัญหาต่างๆ
 
* * * *

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น